กิจกรรม : โครงการจัดอบรม หลักการออกแบบโรงงานอุตสากรรมอาหารตามแนวทางของ GMP
วันที่ : 28/04/2550
อุตสาหกรรมอาหาร เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้หลักให้แก่ ประเทศไทย ตั้งแต่ ผู้ประกอบการไปจนถึง เกษตรกร เพราะใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก สามารถนำเอาผลผลิตทางการเกษตรไปพัฒนาและ แปรรูป ในทางอุตสาหกรรมได้หลากหลาย ทำให้ง่ายต่อการลงทุน การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารในยุคแรกๆ มีวัตถุประสงค์การผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า
ต่อมาเมื่อการผลิตมีการขยายตัวดีขึ้น ประกอบกับผู้ประกอบการมีความรู้ความชำนาญมากขึ้น ภาคอุตสาหกรรมเริ่มได้ประโยชน์จากการผลิตในปริมานมาก จึงเกิดศักยภาพในการผลิตเพื่อส่งออก ดังนั้นการพัฒนาอุตสาหกรรมจึงเปลี่ยนทิศทางจากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าไปสู่ การผลิตเพื่อส่งออก และสามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่ปัจจุบันสถานการณ์การค้าโลกมีความเปลี่ยนแปลง อุตสาหกรรมอาหาร ของไทยกำลังเผชิญอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เนื่องจากระเบียบการค้าโลกเริ่มมีความเข้มข้นขึ้น กอปรกับความได้เปรียบของไทยที่เคย มีมาในอดีตทั้งในด้านวัตถุดิบและค่าจ้างแรงงานได้ลดน้อยลง อีกทั้งผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศที่เป็นตลาดสำคัญของไทยนั้นเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ประชากรส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงมีความต้องการสินค้าที่ต้องมีทั้งคุณภาพมาตรฐาน และความปลอดภัย
ดังนั้นประเทศนำเข้า หลายๆ ประเทศ จึงมีการกำหนดบังคับใช้กฏ ระเบียบต่างๆ ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญในการค้า สินค้าอาหาร มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น มาตรฐาน ISO 9000, ISO 14000, ระบบ HACCP และ GMP ซึ่งมาตรฐานเหล่านี้ถือได้ว่า เป็นกติกาสากลด้าน คุณภาพ ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันพัฒนาองค์กรให้ได้มาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับทั้งภายในและต่างประเทศ
ด้าน ผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมอาหาร ของไทยเอง ก็จำเป็นต้องเร่งปรับตัวอย่างมาก โดยเฉพาะการปรับปรุงด้าน กระบวนการผลิต ตั้งแต่ขั้นตอนของ วัตถุดิบ สถานที่ผลิต กระบวนการผลิต รวมถึง ระบบ ที่ใช้ ควบคุมคุณภาพ และ การตรวจสอบผลิตภัณฑ์ นอกจากนั้นจะต้องมีการลดการผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานคุณภาพต่ำในจำนวนมากลง เพื่อลดข้อเสียเปรียบในการแข่งขันกว่าประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าอีกด้วย
การพัฒนาสถานที่ผลิตอาหาร เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตและความปลอดภัยของอาหารจึงมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออก และรวมถึงการผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ ก็ต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 193) พ.ศ. 2543 เรื่อง วิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหาร หรือ ที่เราเรียกกันว่า GMP กฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล (GMP Codex) ที่ใช้เป็นข้อกำหนดในการค้าขายระหว่างประเทศ
อนึ่ง ปัญหาหนึ่งของการพัฒนาสถานที่ผลิตอาหารเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน GMP ทั้งมาตรฐานสากลและตามที่กฎหมายกำหนดนั้น คือ โครงสร้าง อาคาร การวางผัง หรือ การกำหนดพื้นที่ ยังไม่สอดคล้องกับข้อกำหนด หรือมีการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างไม่เหมาะสม ทำให้ยากต่อดูแลและทำความสะอาด เสี่ยงต่อการปนเปื้อนข้ามไปสู่สินค้า ซึ่งในการปรับปรุงจะต้องมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เล็งเห็นความสำคัญในการ ออกแบบ เพื่อกำหนดพื้นที่ผลิตโรงงานอุตสาหกรรมอาหารตามแนวทางของ GMP เพื่อให้สถานที่ผลิตอาหารมีการออกแบบพื้นที่ผลิตให้ถูกต้องตามตามแนวทางของ GMP ตั้งแต่เริ่มต้น
ดังนั้นทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เห็นควรเป็นอย่างยิ่งที่
จะดำเนินการจัดอบรมเพื่อให้ความรู้ ซึ่งเป็นการบริการวิชาการแก่ชุมชนเพื่อให้ผู้ที่สนใจและเกี่ยวข้องสามารถนำไปปฏิบัติงานได้อย่างดี